ดร.อังคณา บุญสิทธิ์2รศ.ดร.สุวัจฉรา เปี่ยมญาติ3
บทคัดย่อ:
ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาไม่มีช่องทางที่จะทำให้ผู้กระทำผิดสำนึกผิดได้อย่างแท้จริง สำหรับกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ การทำให้ผู้กระทำผิดสำนึกผิดจากใจของเขาเป็นขั้นตอนแรกที่ต้องทำในทางปฏิบัติ กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ซึ่งให้ความสำคัญที่ความรักเพื่อนมนุษย์ ความไว้วางใจ และการให้อภัย การพบปะกันของผู้กระทำผิดและผู้เสียหาย (a victim-offender meeting-VOM) เป็นกระบวนการสำคัญในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่าย กระบวนการนี้ขึ้นกับความสมัครใจเป็นสำคัญ คนกลางหรือ mediator จำเป็นต้องใช้ทักษะการให้คำปรึกษา (counseling) เพื่อช่วยให้ผู้กระทำผิดและผู้เสียหายเข้าใจตัวตนของเขาและต้องการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างสร้างสรรค์และเต็มใจ
กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ : กระบวนการยุติธรรมทางเลือกเพื่อความปรองดอง
กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เป็นพัฒนาการของงานยุติธรรม ที่ให้ความสำคัญกับการพิทักษ์สิทธิของผู้เสียหายและให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม หลักการของความยุติธรรม เชิงสมานฉันท์มีอยู่ในคำสอนของทุกศาสนา (Mark S. Umbreit, 1998, p.4) สำหรับมุมมองทางเทววิทยาของคริสต์ศาสนา ความยุติธรรมเกิดขึ้นเมื่อการกระทำผิดนั้นไม่เกิดขึ้นอีก เมื่อความเสียหายที่เกิดจากการกระทำผิดได้รับการแก้ไขเยียวยา และเมื่อมีการยับยั้งผลร้ายที่เกิดหรืออาจเกิดจากการกระทำผิด ความยุติธรรมที่สมบูรณ์แบบต้องมีการฟื้นฟูความสัมพันธ์และการคืนดีกัน(Marshall, 2001, p.127-128) จากมุมมองของความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ การสร้างความสงบสุข(peacemaking) ได้สร้างความยุติธรรมที่นำไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดีของสังคมและปัจเจกบุคคลการสร้างความสงบสุขมีนัยยะที่ใช้ความร่วมมือร่วมใจกัน ใช้กระบวนการที่สร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง และในขณะเดียวกันก็มีการฟื้นฟูความสัมพันธ์ด้วย (Noll, 2003, pp.50-51)
คำว่า”ความสงบสุข (peace)” มีสองความหมาย คือ ความสงบสุขทางบวก (positive peace) และความสงบสุขทางลบ (negative peace) ความสงบสุขทางลบเป็นการใช้ความรุนแรง และ/หรือ การบังคับเพื่อยับยั้งหรือแก้ปัญหาความขัดแย้ง ผลลัพธ์ที่ได้จากความสงบสุขทางลบคือคำตัดสินความ (decision) แต่ไม่ใช่การแก้ปัญหาหรือการระงับความขัดแย้งส่วนความความสงบสุขทางบวกมีนัยยะของการฟื้นฟูความสัมพันธ์และการคืนดีกันโดยผ่านกระบวนการระงับความขัดแย้ง (Noll, 2003, p.51) โดยผ่านการระงับข้อพิพาทแบบ “ narrative mediation” ผู้เขียนไม่แปลคำว่า “mediation” ว่า “การไกล่เกลี่ย เพราะคุณค่าของการสร้างความสงบสุขและการไกล่เกลี่ยมีความแตกต่างกัน ในขณะที่การสร้างความสงบสุขมุ่งแสวงหาความสงบสุขทางบวก ที่หมายรวมทั้งการฟื้นฟูความสัมพันธ์ ความรับผิดชอบของบุคคล การขอโทษและการให้อภัย(หากเป็นไปได้) แต่การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทอาจเกิดจากความสงบสุขทางลบหรือคำตัดสินความก็ได้ แต่การสร้างความสงบสุขทางบวกเกิดจากการทำข้อตกลงร่วมกันในบริบทของการทำความเข้าใจและการดำเนินการในการสร้างความสงบสุขมีความซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับบุคคล สังคม และกระบวนการยุติธรรมอาญา (Braswell et al,. 2001, p.3)
การสร้างความสงบสุขและความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เป็นการฟื้นฟูความสัมพันธ์ของผู้กระทำผิดและผู้เสียหายให้อยู่ในชุมชนได้อย่างบูรณาการ (Braswell et al,. 2001, p.5) Peacemaking Model ของ Ron Claassen อธิบายว่า การสร้างความสงบสุขเกิดขึ้นได้ต้องอยู่บนพื้นฐานของความรักความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ ความเอื้ออาทร และการให้คุณค่าต่อความเป็นมนุษย์กระบวนการสร้างความสงบสุขเริ่มต้นขึ้นด้วยการที่บุคคลมีความคิดเชิงบวก ต้องการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช้ความรุนแรงตอบโต้ เมื่อทั้งผู้กระทำผิดและผู้เสียหายตัดสินใจและเต็มใจที่จะแก้ปัญหาด้วยความคิดเช่นนี้แล้ว เขาย่อมมีอิสระอย่างเต็มที่ที่จะอธิบายและทำความเข้าใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ความเสียหาย ความเจ็บปวด และผลกระทบที่เกิดตามมา (Claassen,2002, p.4)
ขั้นตอนที่สอง Ron Claassen อธิบายว่า เป็นขั้นตอนของการสร้างความสำนึกถึงความผิด ความสำนึกผิดที่ว่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทุกคนได้อธิบายหรือเล่าเรื่องเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ความคิด ความรู้สึก ความสำนึกผิด/ความตระหนักรู้นี้เป็นส่วนสำคัญของกระบวนการ (Claassen, 2003, p.25)
ขั้นตอนที่สามคือ การหาทางแก้ไข, ฟื้นฟู, เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นเท่าที่เป็นไปได้ และเป็นการหาทางแก้ปัญหาร่วมกันอย่างเสมอภาค บ่อยครั้งที่กระบวนการนี้เป็นการผสมผสานกันระหว่างการทดแทนในสิ่งที่ผู้กระทำผิดสามารถทำได้ และความเมตตากรุณาของผู้เสียหายที่จะคิดว่า “เรื่องมันผ่านไปแล้ว” (Claassen, 2002, p.7)
ขั้นตอนที่สี่คือ การแสดงเจตจำนงว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก เป็นการเปลี่ยนวิธีการ, วิธีคิดในการตอบสนองกับปัญหาหรือความขัดแย้ง (Claassen, 2002, p.8) สิ่งสำคัญในขั้นตอนนี้คือการติดตามผลและความรับผิดชอบของบุคคลในการปฏิบัติตามข้อตกลง เมื่อมีการทำข้อตกลงมีการรักษาข้อตกลง ปฏิบัติตามข้อตกลง (Claassen, 2002, p.9) เมื่อมีการเยียวยาความเสียหายมีการทำข้อตกลงและปฏิบัติตามข้อตกลง การให้อภัยก็อาจเกิดขึ้นได้ Ron Claassen อธิบายว่า การให้อภัยเป็นการเปลี่ยนผ่านความสัมพันธ์ที่ถูกทำลายไปเพราะการกระทำผิด, การละเมิดไปสู่การสร้างความสัมพันธ์ขึ้นมาใหม่ การให้อภัยไม่ใช่แค่การพูดว่าให้อภัยแล้ว แต่เป็นความรู้สึกที่สามารถกลับมาติดต่อสื่อสารกันได้อีก สามารถพูดคุยกันได้ พบประกันได้ด้วยความรู้สึกเอื้ออาทรต่อกัน (Claassen, 2002, p.12) ในกระบวนการนี้ เมื่อมีการทำข้อตกลงร่วมกัน แสดงให้เห็นว่าความไว้วางใจเริ่มเกิดขึ้นแล้ว (Claassen, 2002, p.12) ความรัก ความไว้วางใจ และการให้อภัยเป็นแกนหลักในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ แกนหลักนี้เป็นคุณค่าของกระบวนการยุติธรรมทางเลือกเพื่อความปรองดอง
กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กล่าวได้ว่า กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เป็นกระบวนการในการแก้ไขปัญหาที่ให้ผู้กระทำผิด ผู้เสียหาย และ/หรือ ชุมชนมาหาทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการกระทำผิดร่วมกัน หาทางร่วมกันว่าจะทำอย่างไรต่อไป เป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมากกว่าการลงโทษผู้กระทำผิด และให้ความสำคัญกับการพิทักษ์สิทธิและตอบสนองความต้องการของผู้เสียหายที่จะได้รับการเยียวยาหรือทดแทนความเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นด้านวัตถุสิ่งของ การเงิน อารมณ์ สังคม ผู้กระทำผิดได้แสดงความรับผิดชอบในการกระทำของตนโดยการเยียวยาความเสียหายแก่ผู้เสียหายโดยตรง ตลอดจนการสร้างชุมชนที่ให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลผู้เสียหายและช่วยในการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดอีกด้วย (Marshall, 1999, p.6)
หลักการหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์คือ “การทำสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้” (Claassen, 1996) ซึ่งหมายรวมถึงความตั้งใจที่จะเยียวยาความเสียหายตามความต้องการของผู้เสียหาย ความสำคัญของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์คือการที่ผู้กระทำผิดและผู้เสียหายมาพบปะกัน (Umbreit, 1998, 2001, 2003) เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้กระทำผิดได้ชดใช้เยียวยาความเสียหายแก่ผู้เสียหายโดยตรงและด้วยความเต็มใจ การชดใช้ความเสียหายนี้ไม่เพียงแต่การชดใช้ด้วยเงินตราเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการที่ผู้กระทำผิดได้ขอโทษหรือแสดงออกถึงความเสียใจในการกระทำของตน การบอกกล่าวอธิบายถึงเหตุผลที่กระทำผิด การที่ผู้กระทำผิดได้ฟังและรับรู้ความรู้สึกของผู้เสียหายและผลกระทบที่ได้รับจากการกระทำผิดนั้น ยังเป็นการช่วยให้ผู้เสียหายได้ระบายความรู้สึกออกมา ทั้งหลายเหล่านี้ทำให้ผู้กระทำผิดได้ชดใช้ และ/หรือชดเชยให้ผู้เสียหาย ช่วยให้ผู้กระทำผิดได้เตรียมตัวในการอยู่ในชุมชนอย่างบูรณาการ
การชดเชยความเสียหายอาจทำได้ในหลายรูปแบบได้แก่ การชดใช้เป็นเงินตรา การทำงานบางอย่างให้ผู้เสียหาย การทำงานให้ชุมชนโดยผู้เสียหายเป็นผู้เลือกงานให้ทำ การเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อการแก้ไขฟื้นฟูพฤติกรรม ได้แก่ การบำบัดรักษายาเสพติด การเข้าโปรแกรมการให้คำปรึกษา เป็นต้น หรือการกระทำอื่นๆทำนองเดียวกับที่กล่าวมาแล้วนี้ วิธีการในการชดเชยมีความยืดหยุ่นและเป็นไปตามความต้องการของผู้เสียหายและผู้กระทำผิดประโยชน์ที่สังคมได้รับจากการพบปะกันของผู้กระทำผิดและผู้เสียหาย (Boonsit,2004) ได้แก่
1) ได้รับรู้และเข้าใจความต้องการของผู้เสียหายได้มากขึ้น บางครั้งผู้เสียหายต้องการการให้คำแนะนำ, การให้คำปรึกษาด้วย นอกเหนือไปจากการชดใช้/ชดเชย
2) ผู้กระทำผิดและผู้เสียหายได้รู้จักซึ่งกันและกันในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ไม่ใช่ภาพของการเป็นผู้กระทำผิดและผู้เสียหาย และ
3) ผู้กระทำผิดรู้สึกเสียใจในการกระทำมากกว่าการใช้กระบวนการยุติธรรมอาญาที่มุ่งที่การลงโทษเป็นสำคัญ
ในขณะเดียวกัน ก็เป็นการกระตุ้นให้สังคมสามารถยอมรับผู้กระทำผิดในฐานะที่เป็นเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง การพบปะกันของผู้กระทำผิดและผู้เสียหาย ต้องทำอย่างระมัดระวัง คนที่ทำหน้าที่เป็นคนกลาง (mediator) ต้องได้รับการฝึกฝนมาโดยเฉพาะหน้าที่ของคนกลาง คือการสร้างความรู้สึกปลอดภัย สร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมและสะดวกสบาย และรักษากฎกติกาในการพบปะกัน คุณลักษณะของคนกลางมีความสำคัญอย่างยิ่ง ต้องมีความจริงใจ ความน่าเชื่อถือ มีการแสดงความเห็นอกเห็นใจที่เหมาะสม คนกลางต้องมีความอดทน ต้องแยกแยะความรู้สึกที่มีต่อพฤติกรรมและต่อบุคคลได้
การให้คำปรึกษา: กระบวนการที่ถักทอในกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์
การดำเนินการในกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแนวคิดPeacemaking Model ของ Ron Claassen ที่ให้ความสำคัญกับความรักเพื่อนมนุษย์ความไว้วางใจ และการให้อภัย การที่ผู้กระทำผิดและผู้เสียหายมาพบกันเป็นกระบวนการสำคัญในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ กระบวนการนี้ต้องทำด้วยความสมัครใจของทุกคนที่เกี่ยวข้องกล่าวคือ ผู้เสียหายต้องคิดและตัดสินใจว่าเต็มใจจะพบกับผู้กระทำผิดหรือไม่ ผู้กระทำผิดก็เช่นเดียวกัน ต้องคิดและตัดสินใจว่ายินดีและเต็มใจที่จะพบกับผู้เสียหายหรือไม่ ในขั้นตอนนี้ คนกลางจำเป็นต้องให้คำปรึกษารายบุคคลแก่ผู้เสียหายและผู้กระทำผิด เพื่อช่วยให้เขาเหล่านั้นเข้าใจตัวเอง สามารถคิดและตัดสินใจได้อย่างอิสระและด้วยความต้องการของตนเองอย่างแท้จริงจะขออธิบายกระบวนการดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 การตัดสินใจที่จะเข้าร่วมกระบวนการด้วยความสมัครใจ
คนกลางพบกับผู้เสียหาย คนกลางพบกับผู้กระทำผิดการยอมรับตนเอง & การตัดสินใจได้ด้วยตนเองตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์หรือไม่ถ้าตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมประชุมตามกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ขั้นตอนต่อไปก็เป็นการตัดสินใจว่าจะให้ใครเข้าร่วมประชุมบ้าง เมื่อทุกคนตกลงใจจะเข้าร่วมประชุมแล้ว ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการคิดแก้ปัญหาหรือแก้ไขความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์ บทบาทของคนกลางในขั้นตอนนี้คือผู้ให้คำปรึกษา (counselor) ใช้เทคนิคการให้คำปรึกษารายบุคคลกับผู้เสียหายและผู้กระทำผิด หรือบางครั้งอาจต้องใช้การให้คำปรึกษากลุ่ม (group counseling) กับผู้ที่จะเข้าร่วมประชุมรายอื่นๆนอกเหนือจากผู้เสียหายและผู้กระทำผิดด้วย ขั้นตอนนี้มีความสำคัญในการเตรียมการเพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ เพราะเป็นการช่วยให้ผู้เสียหายและผู้กระทำผิดได้กลับมาติดต่อ พูดจา และพบหน้ากันด้วยความเอื้ออาทรต่อกัน
ขั้นตอนที่ 2 การสร้างความสำนึกถึงความผิด
ขั้นตอนนี้เริ่มขึ้นเมื่อผู้ที่เข้าร่วมประชุมกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ได้พูด/บอกกล่าว/พรรณนาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและความรู้สึกต่อเหตุการณ์นั้น ให้ได้รับรู้ความรู้สึกของคนอื่นบทบาทของคนกลางในขั้นตอนนี้คือผู้อำนวยความสะดวก (facilitator) ให้บุคคลแต่ละคนได้พูดบอกกล่าว การถามผู้ที่รับฟังว่า “คุณได้ยินเขาพูดว่าอะไร” “บอกเขาซิว่าคุณได้ยินเขาพูดว่าอะไร”กระบวนการนี้เป็นการช่วยให้ผู้ที่ทวนคำ/ทวนความ และผู้เข้าร่วมประชุมได้ยินและเข้าใจผู้พูดแบบเอาใจเขามาใส่ใจเรา เมื่อผู้กระทำผิดหรือผู้เสียหายไม่มีอารมณ์จะฟังคนอื่นพูด เขาก็จะไม่ได้ยินว่าผู้พูดๆว่าอะไร หรือเลือกที่จะได้ยินเฉพาะที่ตนเองต้องการ ถ้าเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้นก็มีแนวโน้มว่าต้องยุติการประชุม บ่อยครั้งที่ผู้เสียหายและคนที่เข้าร่วมประชุมฝ่ายผู้เสียหายขอให้ยุติการประชุม และต้องการให้คนกลางทำ group counseling เพื่อกระตุ้นและเสริมพลังทางอารมณ์ จิตใจ
ขั้นตอนที่ 3 การหาทางแก้ไข, ฟื้นฟู, เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นเท่าที่เป็นไปได้ และเป็นการหาทางแก้ปัญหาร่วมกันอย่างเสมอภาค
เมื่อแต่ละคนได้ฟังคนอื่น และได้ยินว่าเขาพูดว่าอะไร หมายความว่าแต่ละคนเริ่มให้โอกาสตนเองและผู้อื่น ในส่วนของผู้กระทำผิด ก็มีโอกาสฟังความรู้สึกของผู้เสียหายและผลกระทบที่ได้รับจากการกระทำผิดของตน เป็นการช่วยให้ผู้กระทำผิดตระหนักรู้ความต้องการของผู้เสียหาย ทั้งความต้องการทางวัตถุสิ่งของ การเงิน อารมณ์ และสังคม เป็นการให้โอกาสผู้กระทำผิดในการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับผู้เสียหายและคนอื่นๆที่เข้าร่วมประชุมที่เป็นฝ่ายผู้เสียหาย ผู้กระทำผิดได้แสดงความรับผิดชอบอย่างเต็มใจกับผู้เสียหายโดยตรง หรืออีกนัยหนึ่งผู้เสียหายก็มีโอกาสได้แสดงความรู้สึกและผลกระทบที่อาจมองไม่เห็นหรือคิดไม่ถึงให้ผู้กระทำผิดได้รับรู้ กระบวนการฟื้นฟูความสัมพันธ์อาจทำให้ผู้เสียหายคิดว่า “เรื่องมันผ่านไปแล้ว ให้มันผ่านไป” บางครั้งอาจช่วยให้ผู้เสียหายให้โอกาสผู้กระทำผิดได้ชดใช้/ชดเชยหรือขอโทษ หรือแสดงความเสียใจต่อผู้เสียหาย และยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้กระทำผิดได้อยู่ในสังคมอย่างบูรณาการผลที่ได้จากขั้นตอนนี้อาจเป็นข้อตกลงระหว่างผู้กระทำผิดและผู้เสียหาย เมื่อผู้กระทำผิดเริ่มแสดงออกถึงความรับผิดชอบในการกระทำผิดของตน ผู้เสียหายก็อาจให้อภัย เมื่อมีการทำข้อตกลงก็เท่ากับทั้งสองฝ่ายให้ความไว้วางใจกัน และเมื่อมีการรักษาสัญญา มีการปฎิบัติตามข้อตกลง ความไว้วางใจก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น บทบาทของคนกลางในขั้นตอนนี้คือการเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการให้คำปรึกษาแบบกลุ่ม (group counseling) ระหว่างผู้กระทำผิด ผู้เสียหายและผู้เข้าร่วมประชุมคนอื่นๆ
ขั้นตอนที่ 4 การแสดงเจตจำนงว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก
ขั้นตอนนี้เป็นการเปลี่ยนวิธีคิด/วิธีการที่เคยทำในอดีตที่ใช้ความรุนแรงแก้ปัญหาหรือแก้ไขความขัดแย้งมาเป็นวิธีใหม่ ซึ่งผู้กระทำผิดจะแสดงให้เห็นว่าเขาจะทำอะไรโดยการเขียนเป็นข้อตกลง (agreement) เมื่อมีการปฎิบัติตามข้อตกลงและอีกฝ่ายรับรู้ว่ามีการปฎิบัติตามข้อตกลงความไว้วางใจกันก็จะเพิ่มมากขึ้น ตรงกันข้าม หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง ความไว้วางใจก็ลดน้อยลงหรือหายไป ความสำคัญของขั้นตอนนี้จึงอยู่ที่การติดตามผลและการแสดงความรับผิดชอบในการกระทำของตนแบบที่เรียกว่า accountability บทบาทของคนกลางในขั้นตอนนี้คือการให้คำปรึกษารายบุคคล (individual counseling) ในการเสริมพลัง (empower)ผู้เสียหายและผู้กระทำผิด และให้ความช่วยเหลือทางจิตใจ, อารมณ์ (psychological support)แก่แต่ละคนที่เกี่ยวข้องกับข้อตกลงที่ทำไว้
การให้คำปรึกษา (counseling) เป็นบทบาทสำคัญในกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ที่ฝังอยู่ในทุกขั้นตอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขั้นตอนที่หนึ่ง การตัดสินใจที่จะเข้าร่วมกระบวนการด้วยความสมัครใจ ถ้าขั้นตอนนี้มีการเตรียมการและดำเนินการที่ดี บุคคลจะเข้าใจตัวตนของเขาและสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และตระหนักว่าเขาต้องการเข้าร่วมประชุมหรือไม่ และไม่ว่าบุคคลเหล่านั้นจะตัดสินใจอย่างไร คนกลางต้องยอมรับการตัดสินใจนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่าการให้คำปรึกษาเป็นกระบวนการที่ผู้ให้คำปรึกษาช่วยให้คนได้เข้าใจและแปลความหมายของข้อเท็จจริงที่กี่ยวข้องกับการเลือก การวางแผน หรือการจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้นที่เหมาะสมและตรงกับความต้องการของเขา (Smith, 1955, p.156)
การศึกษาที่เกี่ยวข้อง
ผลการวิจัยเรื่อง “กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์และปัญหาความรุนแรงในครอบครัว” โดยอังคณา บุญสิทธิ์ (2004) แสดงให้เห็นว่า ผู้ชายและผู้หญิงให้ความหมายของความรุนแรงในครอบครัวแตกต่างกัน ผู้หญิงรู้สึกไว (sensitive) มากกว่าผู้ชาย ผู้หญิงให้ความสนใจกับอารมณ์ ความรู้สึก และผลทางจิตใจที่เกิดตามมาไม่น้อยกว่าการทำร้ายร่างกายในขณะที่ผู้ชายไม่ได้คิดถึงความรู้สึกหรือภาวะจิตใจของผู้หญิง กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์จึงเป็นความหวังสำหรับผู้เสียหายในคดีความรุนแรงในครอบครัวที่ไม่พึงพอใจกระบวนการยุติธรรมอาญา ผู้หญิงที่เป็นภรรยาไม่ได้ต้องการให้สามีได้รับโทษตามกฎหมายผู้วิจัยได้เสนอว่า กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์อาจไม่เหมาะกับคดีความรุนแรงในครอบครัวทุกคดี แต่เป็นประโยชน์สำหรับบางราย/บางคดี/บางคู่ ที่ต้องการฟื้นฟูความสัมพันธ์หรือพยายามรักษาครอบครัวไว้ อย่างไรก็ตาม ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวมีประเด็นที่ซับซ้อน ที่สำคัญคือ เกี่ยวข้องกับประเด็นเพศสภาพ (gender) ดังนั้น ผู้ที่ทำงานกับเรื่องความรุนแรงในครอบครัวควรต้องได้รับการฝึกฝนทักษะการให้คำปรึกษาแบบที่เรียกว่า “feminist counseling skills และ consciousness raising skills เพื่อให้สามารถเสริมพลังผู้ถูกกระทำจากความรุนแรงในครอบครัวได้ (domestic violent victims) (Angkana Boonsit,2004) ในกระบวนการยุติธรรมอาญาไม่มีช่องทางให้ผู้กระทำผิดได้ตระหนักรู้ถึงการกระทำผิดของตน
แต่ในกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนแรกที่ต้องทำดังที่กล่าวแล้วว่า กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เกี่ยวข้องกับผู้เสียหาย และแก่นหลักของกระบวนการระงับข้อพิพาทในแนวทางนี้ก็คือการตระหนักรู้ (recognition) และ การเสริมพลัง (empowerment) ในกรณีที่ใช้กระบวนการ Victim-Offender Mediation (VOM) จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างน้อย 2 ประการคือ
1) ผู้เสียหายจะถูกกระตุ้นให้มีการเปลี่ยนแปลงภายหลังจากการประชุมตามกระบวนการ Victim-Offender Mediation ผู้เสียหายจะกลายเป็นผู้หญิงที่เข้มแข็ง สามารถดูแลตนเองและพิทักษ์สิทธิของตนเองไม่ให้ถูกกระทำรุนแรง
2) คู่สมรส(ทั้งสามีและภรรยา) จะเริ่มปรับความสัมพันธ์ให้ดีขึ้น ผลที่ได้จากกระบวนการ Victim-OffenderMediation คือ การทำความเข้าใจและตระหนักรู้ คู่สามีภรรยาได้ถูกตระเตรียมให้พยายามทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและฟื้นฟูความสัมพันธ์ เพื่อพิจารณากระบวนการระงับข้อพิพาทตามแบบPeacemaking Model ของ Ron Claassen พบว่า ขั้นตอนที่ 1 การตัดสินใจที่จะเข้าร่วมกระบวนการด้วยความสมัครใจ ซึ่งเริ่มด้วยการให้คำปรึกษาผู้เสียหายและผู้กระทำผิด Katherine Vna Wormer (2001) กล่าวว่า นี่เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความไว้วางใจ ช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่มีความไม่เสมอภาคในโครงสร้างอำนาจ ในการให้คำปรึกษาแก่ผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นผู้เสียหาย หรือผู้กระทำผิด หรือทั้งสองสถานะ คนกลางสามารถเริ่มโดยเข้าไปในโลกของผู้หญิงเหล่านี้ รับฟังความเจ็บปวด ความทุกข์ทรมาน ความอึดอัดคับข้องใจ และพยายามทำความเข้าใจในภาษาของผู้หญิงและแนวความคิดที่มีอิทธิพลต่อผู้หญิงนั้นๆ เรื่องราวหรือประวัติของการตกเป็นเหยื่อในเรื่องความสัมพันธ์ที่ถูกละเมิด การติดยาเสพติดหรือภาวะที่ติดนิสัยในบางอย่าง (addiction)
ระบบการให้ความช่วยเหลือที่ไม่เพียงพอ และปัญหาทางเศรษฐกิจที่มีผลต่อการเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าของครอบครัว, ทักษะการเอาตัวรอดในแต่ละวัน เรื่องราวของลูกๆและความรักความผูกพันในครอบครัว โดยผ่านกระบวนการรับฟังที่สะท้อนความเข้าใจถึงความรู้สึกของผู้พูด และกระบวนการเสริมแรงให้ผู้หญิงได้แสดงถึงความแข็งแกร่ง ผู้หญิงที่รับคำปรึกษาสามารถกำหนดทางเดินที่เป็นไปได้สำหรับชีวิตของตนเอง (Wormer, 2001, p.83) ผู้หญิงที่ถูกทำร้ายและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมส่วนใหญ่จะเรียนรู้ว่า ควรจะพูดอะไร และเมื่อใดที่ไม่ควรพูด แต่ในกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ คนกลางต้องไวต่อความรู้สึกของผู้หญิง ไวที่จะรับรู้ความต้องการและลักษณะเฉพาะตัวของผู้หญิงคนนั้นๆ คนกลางต้องเข้าใจประเด็นของผู้หญิง และสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ให้เขารู้สึกไว้วางใจ และกระตุ้นให้ผู้หญิงเชื่อมั่นตนเอง คนกลางควรแสดงให้ผู้หญิงเห็นเป็นตัวอย่าง การไวต่อความรู้สึกเพื่อให้ผู้หญิงที่เป็นผู้เสียหายหรือผู้กระทำผิดมีมุมมองใหม่ๆ ใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ คนกลางควรอำนวยความสะดวกให้เขาต่อสู้กับความรู้สึกว่าตัวเองไม่มีอำนาจและไม่มีคุณค่า ไม่มีศักดิ์ศรี และช่วยให้เขาเข้าใจความขัดแย้งระหว่างค่านิยมทางวัฒนธรรมประเพณีและคุณค่าใหม่ที่ค้นพบ ทำให้เขาเข้าใจอย่างถ่องแท้ และพยายามปรับพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจากความรู้สึกใหม่ วิธีคิดแบบใหม่ และมีพฤติกรรมใหม่ได้ด้วยตัวเขาเอง
สำหรับผู้ชายที่เป็นผู้เสียหายหรือผู้กระทำผิด คนกลางต้องยอมรับผู้ชายคนนั้นในแบบที่เขาเป็น เพราะผู้ชายมักไม่ค่อยเปิดเผยความรู้สึก ได้แก่ ความเศร้าลึกๆ การไร้ความสามารถเรื่องการสร้างสัมพันธภาพที่ใกล้ชิดและความเป็นส่วนตัว(intimacy) คนกลางต้องรู้ว่าไม่ควรผลักดันให้ผู้ชายแสดงความรู้สึกอ่อนโยนอย่างรวดเร็วหรือทันทีทันใด เป็นที่รู้กันดีว่าธรรมชาติของผู้ชายไม่ว่าในฐานะผู้เสียหายหรือผู้กระทำผิด มักจะตำหนิติเตียนหรือกล่าวโทษผู้อื่นเพื่อรักษาอัตตาของตัวเอง ดังนั้น คนกลางควรช่วยให้เขาเข้าใจตัวของเขาเองและความรู้สึกของเขาก่อนที่จะสร้างความสัมพันธ์และกระตุ้นการเปิดเผยหรือแสดงความรู้สึกใหม่ การทำงานในฐานะคนกลางที่สำคัญคือ การช่วยผู้ชายให้ค้นหาอารมณ์และความรู้สึกที่แสดงถึงความเป็นตัวตนของเขาเอง การคิดแบบใหม่ และการกระทำในวิถีทางใหม่สำหรับการดำเนินการของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ที่ให้ความสำคัญกับความรักเพื่อนมนุษย์ ความไว้วางใจ และการให้อภัย คนกลางต้องให้ความสนใจกับการเข้าร่วมกระบวนการด้วยความสมัครใจ
การให้คำปรึกษาเป็นกระบวนการที่ช่วยให้คนแต่ละคนเข้าใจตนเองและสภาพแวดล้อม และสามารถตัดสินใจเลือกสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเขา คนกลางต้องรู้และสามารถใช้เทคนิคการให้คำปรึกษาอย่างเหมาะสมในแต่ละขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ผลการวิจัยเรื่อง Restorative Justice and Domestic Violence โดยอังคณา บุญสิทธิ์ (2004) พบว่า ชายและหญิงให้ความหมายของความรุนแรงในครอบครัวแตกต่างกัน ผู้หญิงให้ความหมายว่า ความรุนแรงในครอบครัวคือการทำให้เกิดความทุกข์ทั้งกายและใจ ทั้งการทำร้ายร่างกาย การดุด่าว่ากล่าว ตำหนิ ติเตียน รวมทั้งการละเลยไม่เอาใจใส่ดูแลครอบครัว ส่วนผู้ชายให้ความหมายความรุนแรงในครอบครัวว่าเป็นการทำร้ายร่างกายเท่านั้น กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ที่ให้โอกาสชายหญิงได้มาพูดคุยทำความเข้าใจ รับรู้ความรู้สึกนึกคิดของกันและกัน จึงเป็นกระบวนการเรียนรู้ (re-educate) และทำความเข้าใจของทั้งสองฝ่ายดังที่กล่าวข้างต้นว่า ผลจากการประชุมในกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์คือข้อตกลงที่ทุกฝ่ายทำร่วมกัน (agreement making) ข้อตกลงนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่แสดงให้เห็นว่าคู่สามีภรรยาต้องการฟื้นฟูหรือรักษาความเป็นครอบครัวไว้ ในการปฏิบัติตามข้อตกลงมีความเป็นไปได้ที่ชายหรือหญิง หรือทั้งสองฝ่ายอยากเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อรักษาครอบครัวไว้ หรือเพื่อฟื้นฟูสัมพันธภาพไว้ การเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้มีทั้งที่บุคคลนั้นๆสามารถทำได้ด้วยตนเอง แต่ในกรณีที่ไม่สามารถเปลี่ยนด้วยตนเองได้ อาจต้องใช้โปรแกรมบำบัดที่ดำเนินการโดยทีมสหวิชาชีพได้แก่ นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา ฯลฯ ทั้งนี้ ขึ้นกับสิ่งที่บุคคลนั้นๆต้องเปลี่ยนแปลงบทบาทของทีมสหวิชาชีพคือการช่วยวางแผนโปรแกรมการให้ความช่วยเหลือทุกฝ่ายตามความต้องการของเขา
โปรแกรมนี้อาจต้องเริ่มตั้งแต่การวินิจฉัยทางสังคม (social diagnosis) ว่าจะมีใคร กลุ่มใดเข้ามามีบทบาท ทั้งในการให้ความช่วยเหลือทางตรงและทางอ้อมเมื่อมีการดำเนินการตามโปรแกรมให้ความช่วยเหลือแล้ว ก็ต้องมีบุคคลใดบุคคลหนึ่งอาจเป็นคนกลาง (mediator) หรือนักสังคมสงเคราะห์ หรือนักจิตวิทยา ทำหน้าที่ติดตามผลเป็นระยะๆ อาจมีการเยี่ยมบ้านเพื่อทำการศึกษาสังเกตการณ์เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหลังจากเข้าสู่โปรแกรมการให้ความช่วยเหลือ เพื่อทราบว่าการดำเนินการตามโปรแกรมที่วางไว้ประสบความสำเร็จหรือไม่ หากมีปัญหาอุปสรรคหรือสิ่งอื่นใดที่ส่งผลต่อประสิทธิผลของการให้ความช่วยเหลือ ก็จะได้ปรับเปลี่ยนโปรแกรมการให้ความช่วยเหลือต่อไปบทบาทที่สำคัญยิ่งของทีมสหวิชาชีพจึงอยู่ที่ขั้นตอนภายหลังจากการทำข้อตกลงทุกขั้นตอน ตั้งแต่การวางแผนหรือโปรแกรมให้ความช่วยเหลือ การติดตามผล การทบทวนแผนและวางแผนใหม่กรณีแผนเดิมมีปัญหาอุปสรรค การเป็นผู้ให้กำลังใจและผู้เสริมแรงเป็นบทบาทที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับทีมสหวิชาชีพ เป็นทีมงานที่คอยประคับประคองผู้รับบริการเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนและสมัครใจต่อไป
---------------------------------------------------------------
1 บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทความเรื่อง Counseling: The Embedded Process in Restorative Justice Practice ซึ่งนำเสนอในการประชุม The Asian Applied Psychology International Regional Conference, 14-16 พฤศจิกายน 2548, กรุงเทพฯ
2สำนักพัฒนาการคุมประพฤติ กรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม
3คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
บรรณานุกรม
Bianchi, Herman., Justice as Sanctuary : Toward a new system of Crime Control, U.S.A.: Indianna University Press, 1991
Boers, Arthur P., Justice as Heals: A Biblical Vision for Victims and Offenders, U.S.A.: Faith and Life Press, 1992
Boonsit, Angkana, Restorative Justice and Domestic Violence, the dissertation submitted in partial fulfillment of the requirement for the degree of doctor of philosophy (social administration, Faculty of Social Administration, Thammasat University, 2004
Braswell, Michael and other, Correction, Peacemaking, and Restorative Justice, U.S.A.: Anderson Publishing Co., 2001
Consedine, Jim., Restorative Justice: healing the effects of crime, New Zealand Ploughshares Publication, 1999
Galaway, Burt and Hudson, Joe(ed). Restorative Justice International Perspectives, U.S.A.: Criminal Justice Press, 1996
Marshall, Christopher D., Beyond Retribution: A New Testament Vision for Justice, Crime, and Punishment, U.K.: Wm.B.Eerdmans Publishing Co., 2001
Noll, Douglas, Peacemaking : Practicing at the Intersection of Law and Human Conflict, U.S.A.: Cascadia Publishing House, 2003
Schrock-shenk, Carolyn & Ressler, Lawrence (ed.), Making Peace with Conflict: Practical Skills for Conflict Transformation, U.S.A.: Herald Press, 1999
Taylor, Alison, Family Dispute Resolution: Mediation Theory and Practice, U.S.A. :Jossey-Bass, 2002
Van Ness, Daniel W., Crime and Its Victim, U.S.A.: InterVarsity Press,1986
Zehr, Howard, Changing Lenses: A New Focus on Crime and Justice, U.S.A.: Herald Press, 1995
Zehr, Howard, The Little Book of Restorative Justice, U.S.A.: Good Books Intercourse, 2002__
credit by http://thaisocialwork.org/index.php?option=com_content&view=article&id=99%3Acounseling-mediation&catid=40%3Aarticles