การให้คำปรึกษาแบบกลุ่ม
(Group Counseling)
ผศ. นพ. พนม เกตุมาน สาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
หลักการ ใช้หลักการของกลุ่มบำบัดขนาดเล็ก ที่มีลักษณะกลุ่มช่วยเหลือกันเอง
กลุ่มเป้าหมาย นักเรียนวัยเรียนหรือวันรุ่นที่ประสบภัยทุกคน หรือกลุ่มเสี่ยงที่ได้จากการคัดกรอง
เทคนิคพิเศษที่ใช้ในกลุ่ม
- เทคนิค แบบ self-help group กลุ่มช่วยเหลือกันเอง แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ให้คำแนะนำ ชมเชย ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน บรรยากาศเป็นกันเอง สร้างความรู้จักและอยากช่วยเหลือกัน
- เทคนิค การรักษาแบบ cognitive-behavior therapy กลุ่มเกิดการเรียนรู้ใหม่ทางความคิด วิธีคิด การคิดดี เรียนรู้วิธีคิดแบบใหม่ แก้ไขการเรียนรู้แบบเก่า การเข้าใจความคิดความรู้สึกของตนเอง แก้ไขอาการทางอารมณ์ได้ด้วยตัวเอง คลายเครียดและความกังวลได้
- ใช้เทคนิคแบบการให้คำปรึกษา counseling ให้การช่วยเหลือประคับประคองทางอารมณ์ จนจิตใจสงบ สามารถคิดแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง เลือกทางออกที่เหมาะสม ปรับตัวและใจได้เต็มตามความสามารถที่แท้จริง
ข้อดีของการให้คำปรึกษาแบบกลุ่ม
![]() | ทำได้ง่าย สามารถทำได้ในโรงเรียน ครูสามารถทำได้ ประหยัดเวลา |
![]() | เหมาะสมกับวัยรุ่น เกิดความเข้าใจเห็นใจอยากช่วยเหลือกัน |
![]() | ฝึกทักษะสังคมได้ดี |
![]() | การประคับประคองทางอารมณ์เกิดได้มาก |
วิธีการ
- แนะนำตัว ผู้นำกลุ่มแนะนำตัวเอง ให้ทุกคนแนะนำตัวเองสั้นๆ ว่าชื่ออะไร ชั้น ที่อยู่
- อธิบายวัตถุประสงค์ของการคุยกันเป็นกลุ่ม เวลาที่จะใช้(30-45 นาที) เน้นกติกาของกลุ่ม คือการเรียนรู้จากกันการเปิดเผยและช่วยเหลือกัน ทุกคนจะมีโอกาสเล่าเรื่องของตนเอง และพร้อมที่จะฟัง และช่วยเหลือผู้อื่น
- ผู้นำกลุ่มเน้นเรื่อง การเก็บรักษาความลับ ไม่นำเรื่องที่คุยกันในกลุ่มไปเปิดเผยภายนอก
- สอบถามสมาชิกกลุ่มทุกคนว่า ในขณะนี้มีใครมีอาการอย่างไรบ้าง ที่รบกวนการดำเนินชีวิต
- ผู้นำกลุ่มตั้งคำถามนำ หลังเหตุการณ์ใครมีอาการเหล่านี้ บ้าง เช่น เครียด เสียใจ คิดถึงผู้สูญเสีย ฝันร้าย นอนไม่หลับ คิดวนเวียน กลัว ตกใจง่ายกับเสียงดังๆ หงุดหงิดอารมณ์เสีย เบื่อหน่าย ท้อแท้ เบื่ออาหาร เบื่อชีวิต
- ให้สมาชิกเล่าว่า เมื่อเกิดอาการขึ้น มีวิธีการแก้ไขอย่างไร ที่ทำแล้วได้ผล
- ผู้นำกลุ่มถามสมาชิกคนอื่นๆ ว่า จะมีใครมีคำแนะนำเพื่อนบ้าง เปิดโอกาสให้แสดงออกหลายๆวิธี
- ผู้นำกลุ่มยกวิธีการที่ดีของสมาชิกให้เป็นตัวอย่างแก่คนอื่น แนะนำให้ลองฟังความคิดของกันและกัน ข้อดีของทางเลือกนั้น ส่งเสริมให้หาวิธีดีๆ และนำไปปฏิบัติ
- ตัวอย่างการแก้ปัญหาที่ดี ได้แก่ เวลามีเรื่องไม่สบายใจ หาผู้รับฟังที่ดี เช่น เพื่อน ครู พ่อแม่ ญาติพี่น้อง เปิดเผย การเล่าจะเป็นการระบายความรู้สึก และอาจได้คำแนะนำดีๆ ทางออกแก้ปัญหาที่ดีได้
- หากิจกรรมเบนความสนใจ เช่น เล่น เกม กีฬา ศิลปะ ดนตรี กิจกรรมกลุ่ม ทำความดี ช่วยเหลือผู้อื่น บำเพ็ญประโยชน์
- มองโลกในแง่ดี คิดถึงคนที่แย่กว่าเรา เรายังมีข้อดีบางอย่าง หัดมองข้อดีตนเอง
- เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีข้อดี หรือเห็นอะไรดีๆ ได้ข้อคิดอะไรดีๆบ้าง เช่น เห็นความเห็นอกเห็นใจ เห็นน้ำใจของคนอื่นๆ เชื่อว่าคนเราไม่ทิ้งกัน มีเมตตากัน มีคนดีๆเกิดขึ้น แสดงว่าคนเราจำนวนมากอยากทำดีต่อผู้อื่น
- คิดถึงผู้ที่ตายจากไป แนะนำให้สวดมนต์ ไหว้พระ ทำบุญตักบาตรอุทิศส่วนกุศล ถ้ากลัวสิ่งใดให้เผชิญทีละน้อย
- สอบถามว่ามีใครคิดว่าเป็นความผิดของตนเอง ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ หรือทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต หรือไม่ได้ช่วยผู้อื่น หรือการเอาตัวรอดทำให้ผู้อื่น
- วิธีเอาชนะความคิดเช่นนี้ ทำอย่างไร ช่วยกันแนะนำเพื่อน
- ผู้นำกลุ่มอธิบายให้ฟังว่า อาการต่างๆเหล่านั้น เกิดขึ้นได้ในเด็กที่เผชิญภัยเช่นนี้ จะหายได้ จะควบคุมตนเองได้ ความกลัวสถานที่ เช่น บ้าน หรือ ชายหาด สามารถรักษาได้ง่ายๆ ด้วยการเผชิญสิ่งนั้นทีละน้อย ไม่ใช่โรคจิต โรคประสาท ถ้ายังมีอาการหลังจาก 1 เดือนแล้ว ควรปรึกษาแพทย์ในทีมสุขภาพจิต
- เปิดเวทีให้สมาชิกกลุ่มเล่าประสบการณ์ตนเอง ใครทำอะไรอยู่ในตอนนั้น แล้วให้ช่วยกันเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นจนจบ หาสาเหตุ การแก้ไข และป้องกันตนเองและครอบครัว ใครจะทำอะไรต่อไป
- ให้ทบทวนความคิดและความรู้สึกตนเองว่า รู้สึกอย่างไร กลัว เครียด เศร้า
- ให้ช่วยกันหาทางเปลี่ยนความรู้สึกที่ไม่ดีเหล่านั้น
- แนะนำเทคนิค การควบคุมความคิด โดยการกำหนดจิตใจให้อยู่กับปัจจุบันตลอดเวลา โดยให้อยู่กับลมหายใจ เข้าและออก เมื่อจิตใจไปคิดเรื่องอื่น ให้ดึงกลับมาสู่ลมหายใจอย่างเดิม อย่างต่อเนื่องนานๆ ฝึกประมาณ 5 นาที
- เมื่อเกิดความรู้สึกที่ไม่ดี ให้รู้ตัวว่ากำลังคิดเรื่องใด ดึงความคิดกลับมาสู่ลมหายใจเข้าออกดังเดิม
- แนะนำให้ฝึกเป็นประจำ วันละ 10-20 นาที ก่อนนอน และในเวลากลางวันที่ว่าง
- สรุปการเรียนรู้ อาจให้สมาชิกช่วยกันสรุปก็ได้ ใครมีคำถาม หรือข้อคิดเห็น
- นัดหมายครั้งต่อไป
คำแนะนำสำหรับผู้รักษาแบบกลุ่ม
![]() | สำหรับกลุ่มนักเรียนทั้งหมดที่ประสบภัย ควรให้การช่วยเหลือแบบกลุ่ม อย่างน้อย 1-2 ครั้ง จากการพูดคุยในกลุ่ม ผู้นำกลุ่มสามารถเลือกเด็กกลุ่มเสี่ยง ที่มีอาการมากกว่าคนอื่นๆ หรือมีปัญหาในการเรียน การปรับตัว มาจัดกลุ่มให้คำปรึกษาเพิ่มเติม 8-12 ครั้ง |
![]() | สำหรับเด็กกลุ่มเสี่ยง ควรให้การช่วยเหลือแบบกลุ่ม ต่อเนื่อง 8-12 ครั้ง หรือจนกว่าเด็กจะดีขึ้น(ไม่มีอาการ ปรับตัวได้) |