ขั้นตอนการให้บริการตรวจรักษาทางจิตเวช
ก่อนที่จะได้ทราบแนวทางต่าง ๆ ในการปฏิบัติงานทดสอบทางจิตวิทยา นักจิตวิทยาควรจะได้ทราบ
ถึงขั้นตอนของการให้บริการตรวจรักษาทางจิตเวชโดยภาพรวมของภาควิชาจิตเวชศาสตร์เสียก่อน ตามแผนภูมิแสดงขั้นตอนการให้บริการตรวจรักษาทางจิตเวช ดังนี้
ขั้นตอนการให้บริการตรวจรักษาทางจิตเวช
การให้บริการตรวจรักษาทางจิตเวชในช่วงเวลา 08.30 – 12.00 น. ของทุกวันทำการ มีรายละเอียดขั้นตอน ดังนี้
1. ผู้รับบริการซึ่งอาจจะได้แก่ผู้ป่วยจิตเวช หรือผู้ป่วยโรคทางกายที่ถูกส่งปรึกษาจากแผนกอื่นในโรงพยาบาลศรีนครินทร์ พบพยาบาลที่ห้องตรวจจิตเวช (ห้องตรวจหมายเลข 7) อาคาร 89 พรรษาสมเด็จย่าซึ่งเป็นที่ทำการแผนกผู้ป่วยนอกเพื่อรับการจำแนกประเภทและตรวจวัดทางการพยาบาล หรือแจ้งนัดหมาย
ก่อนพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา
2. ผู้ป่วยรายใหม่ทุกรายพบจิตแพทย์เพื่อจิตแพทย์จะได้ทำการสัมภาษณ์ทางจิตเวช (psychiatric interview) และประเมินสภาพจิต (mental status) และให้การวินิจฉัยเบื้องต้น ผู้ป่วยบางรายที่จิตแพทย์พิจารณาแล้วเห็นว่าควรได้รับการตรวจประเมินทางจิตวิทยาเพิ่มเติมก่อนการวินิจฉัย หรือเพื่อยืนยันการวินิจฉัย หรือเพื่อต้องการหลักฐานทางจิตวิทยาเพื่อให้คำรับรองภาวะสุขภาพจิต จิตแพทย์จะส่งปรึกษา
นักจิตวิทยาโดยเขียนใบคำขอส่งตรวจทางจิตวิทยา (ดูในภาคผนวก ก) ส่งให้พยาบาลห้องตรวจจิตเวชเป็นผู้ดำเนินการส่งต่อให้นักจิตวิทยา ยกเว้นกรณีผู้รับบริการข้าราชการหรือนักเรียนนักศึกษาที่ได้รับทุนศึกษาต่อต่างประเทศจะเข้าพบนักจิตวิทยา เพื่อทำการการตรวจประเมินทางจิตวิทยาทุกรายก่อนพบจิตแพทย์ในวันรุ่งขึ้น
3. ผู้ป่วยที่ถูกส่งตรวจประเมินทางจิตวิทยาอาจเข้ารับการตรวจประเมินทางจิตวิทยาต่อในทันทีหากนักจิตวิทยาไม่มีคิวผู้ป่วยนัดหมาย แต่หากนักจิตวิทยามีคิวผู้ป่วยนัดหมาย พยาบาลจะทำการนัดหมายผู้ป่วยให้เข้ารับการตรวจประเมินทางจิตวิทยาในครั้งต่อไป ยกเว้นผู้ป่วยกรณีเร่งด่วนหรือผู้ป่วยบ้านไกลฐานะยากจน นักจิตวิทยาจะพิจารณาทำการตรวจประเมินทางจิตวิทยาให้ในภาคบ่ายเป็นราย ๆ ไป
4. ในกรณีที่ผู้ป่วยที่ได้รับการนัดหมายให้มารับการตรวจประเมินทางจิตวิทยา ในครั้งต่อไป หลังจากที่ยื่นบัตรนัดหมายกับพยาบาลห้องตรวจแล้ว ผู้ป่วยจะได้เข้าพบนักจิตวิทยาเพื่อรับการตรวจประเมินทางจิตวิทยาได้ตามกำหนดเวลาที่ระบุในบัตรนัดทันที โดยนักจิตวิทยากำหนดระเบียบนัดหมายไว้ว่านักจิตวิทยาสามารถรับนัดทำการทดสอบทางจิตวิทยาได้วันละ 2 คน / นักจิตวิทยา 1 คน (สำหรับภาคเช้า) และรับนัดทำทดสอบทางจิตวิทยาได้วันละ 1 คน / นักจิตวิทยา 1 คน (สำหรับภาคบ่าย กรณีเร่งด่วน)
5. หลังจากผู้ป่วยได้รับการตรวจประเมินทางจิตวิทยาโดยนักจิตวิทยาแล้ว พยาบาลก็จะส่งต่อผู้ป่วยพร้อมผลการตรวจประเมินทางจิตวิทยาไปพบจิตแพทย์อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นวันเดียวกับที่ทำการตรวจประเมินทางจิตวิทยา หรือเป็นวันนัดหมายอื่น และหลังจากที่พบจิตแพทย์แล้วพยาบาลห้องตรวจอาจส่งผู้ป่วยบางรายเข้ารับการรักษาที่หอผู้ป่วยจิตเวช หรือส่งกลับหอผู้ป่วยโรคทางกายที่ส่งปรึกษาแผนกจิตเวช บางรายให้รับยาแล้วกลับบ้าน บางรายหากไม่จำเป็นต้องบำบัดด้วยยาก็ให้กลับบ้านได้เลยหรืออาจส่งต่อแผนกอื่นที่เกี่ยวข้อง กรณีที่ผู้ป่วยต้องมารับการบำบัดรักษาด้วยวิธีอื่น หรือต้องมาติดตามการรักษา พยาบาลก็จะทำการนัดหมายให้ผู้ป่วยมารับบริการตามเป้าหมาย
6. กรณีที่เป็นผู้ป่วยในทั้งผู้ป่วยจิตเวชหรือผู้ป่วยโรคทางกาย ที่จิตแพทย์ส่งปรึกษาเพื่อตรวจ
ประเมินทางจิตวิทยา พยาบาลหอผู้ป่วยจะโทร. มาประสานกับพยาบาลห้องตรวจเพื่อนัดหมายทำการตรวจ
ประเมินทางจิตวิทยา นักจิตวิทยาก็จะทำการตรวจประเมินทางจิตวิทยาตามที่นัดหมาย หลังจากนั้นก็จะส่งผลการตรวจประเมินทางจิตวิทยาไปยังหอผู้ป่วยเพื่อให้จิตแพทย์ใช้ประกอบการพิจารณาวินิจฉัยโรคหรือพิจารณาให้การบำบัดรักษาต่อไป